วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

เรื่องเล่าของในหลวง (ตอนที่ 3)







      ผ่านไปแล้วสำหรับบทความ 2 ชิ้นที่ได้รวบรวมเรื่องราวต่างๆที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่เหมาะสมแก่ประชาชนชาวไทยควรจะปฏิบัติตาม ในบทความนี้ยังมีเรื่องราวดีๆเช่นเดิมนำมาฝากผู้อ่านทุกๆท่านนะครับ มาติดตามชมได้ในบทความนี้ที่มีชื่อว่า "เรื่องเล่าของในหลวง ตอนที่ 3"

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องที่ 5 ดอกบัวจากหัวใจ


            ที่นครพนม บนเส้นทางรับเสด็จตรงสามแยกชยางกูร - เรณูนคร บ่ายวันที่ 13 พ.ย. 2498 อาณัติ บุนนาค หัวหน้าส่วนช่างภาพประจำพระองค์ ได้บันทึกภาพในวินาทีสำคัญ ที่กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ภาพหนึ่งของประเทศ "ภาพที่พูดได้มากกว่าคำพูดหนึ่งล้านคำ"
      วันนั้นหลังจากทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร เสร็จสิ้นในช่วงเช้าแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งกลับไปประทับแรม ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ราษฎรที่รู้ข่าวก็พากันอุ้มลูก จูงหลานหอบกันมารับเสด็จที่ริมถนนอย่างเนืองแน่น
      ดังเช่นครอบครัวจันท์นิตย์ ที่ลูกหลานช่วยกันนำ แม่ตุ้ม จันทนิตย์ วัย 102 ปี ไปรอรับเสด็จ ณ จุดรับเสด็จห่างจากบ้าน 700 เมตร โดยลูกหลานได้จัดหาดอกบัวสายสีชมพู ให้แม่เฒ่าจำนวน 3 ดอก และพาออกไปรอที่แถวหน้าสุดเพื่อให้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทที่สุด
      เปลวแดดร้อนแรงตั้งแต่เช้าจนสาย เที่ยงจนบ่าย แผดเผาจนดอกบัวสายในมือเหี่ยวโรย แต่หัวใจรักภักดีของหญิงชรายังเบิกบาน เมื่อเสด็จฯ มาถึงตรงหน้า แม่เฒ่าได้ยกดอกบัวสายโรยราสามดอกนั้น ขึ้นจบเหนือศีรษะแสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง 

"พระเจ้าแผ่นดิน" ทรงโน้มพระองค์อย่างต่ำที่สุด จนพระพักตร์แนบชิดกับศีรษะของแม่เฒ่า ทรงแย้มพระสรวลอย่างเอ็นดู พระหัตถ์แตะมือกร้านคล้ำของเกษตรกรชราชาวอีสานอย่างอ่อนโยน

      เป็นคำบรรยายเหมือนไม่จำเป็น สำหรับภาพที่ไม่จำเป็นต้องบรรยาย ไม่มีใครรู้ว่าทรงกระซิบคำใดกับแม่เฒ่า แต่แน่นอนว่าแม่เฒ่าไม่มีวันลืม เช่นเดียวกับที่ ในหลวงไม่ทรงลืมราษฎรคนสำคัญที่ทรงพบริมถนนวันนั้น หลานและเหลนของแม่เฒ่าเล่าว่า

      "หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯแล้ว ทางสำนักพระราชวัง ได้ส่งภาพรับเสด็จของแม่เฒ่าตุ้ม พร้อมทั้งพระบรมรูปหล่อด้วยปูนพลาสเตอร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานผ่านมาทางอำเภอพระธาตุพนม ให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึก"

      พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ อาจมีส่วนชุบชูชีวิตให้แม่เฒ่ายืนยาวขึ้นอีก ด้วยความสุขต่อมาอีกถึงสามปีเต็มๆ
      แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ ราษฎรผู้โชคดีที่สุดคนหนึ่งในรัชกาลที่ 9 สิ้นอายุขัยอย่างสงบด้วยโรคชราเมื่ออายุได้ 105 ปี

เรื่องโดย
      ข้อมูลจาก "แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์" ภาคพิเศษโดย คุณหญิงศรีนาถ สุริยะ วารสารไทย
ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้
      เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นหนึ่งภาพประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯทรงมีพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นแก่ แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ เป็นความสุขและความอุ่นใจที่คนไทยธรรมดาคนหนึ่งได้รับจากพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ และเป็นความปลื้มปิติอย่างยิ่งสำหรับคนไทยทั่วทั้งประเทศที่ได้มีโอกาสรับรู้และพบเห็นเรื่องราวในครั้งนี้

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องที่ 6 ข้าวผัดไข่ดาว



      วันหนึ่งในหลวงเสด็จฯ เขาค้อเพื่อเปิดอนุสาวรีย์ พอเปิดอนุสาวรีย์เสร็จพระองค์ท่านก็ขอกลับไปที่พระตำหนักเพื่อจะทรงเปลี่ยนฉลองพระบาทเพราะเดี๋ยวจะไปดูงานในป่าในดง เราก็ไม่ได้ทานข้าวไม่มีใครทานข้าวตอนนั้นบ่ายสองโมงแล้ว ก่อนจะเปลี่ยนฉลองพระบาทสักยี่สิบนาทีน่าจะพุ้ยข้าวทัน ก็รีบวิ่งไปห้องอาหารที่เตรียมไว้ ปรากฏว่าพวกที่ไม่ได้ตามเสด็จเขาทานกันหมดแล้ว ในนั้นจึงเหลือข้าวผัดติดก้นกระบะ กับมีไข่ดาวทิ้งแห้งไว้ 3-4 ใบ เราก็ตักเห็นมีข้าวอยู่จานหนึ่งวางไว้ มีข้าวผัดเหมือนอย่างเราไข่ดาวโปะใบหนึ่ง มีน้ำปลาถ้วยหนึ่งวางอยู่เพื่อนผมก็จะไปหยิบมามหาดเล็กบอกว่า "ไม่ได้ๆ จานนี้ของ  พระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งให้มาตัก" ดูสิครับตักมาจากก้นกระทะเลย ผมนี่น้ำตาแทบไหลเลย ท่านเสวยเหมือนๆกันกับเรา......

เรื่องโดย
      ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้
      แม้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศไทย แต่ทรงเลือกปฏิบัติพระองค์เช่นเดียวกับชาวบ้านสามัญชนธรรมดา ทรงเสวยอาหารแบบเดียวกันกับที่ชาวบ้านรับประทานโดยไม่ถือพระองค์แม้แต่น้อย เป็นพระจริยวัตรอันงดงามน่าประทัปใจ สมควรแก่การยกย่องเทิดทูน และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งต่อประชาชนชาวไทย

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องที่ 7 น้ำท่วมครั้งนั้น

      วันที่ 7 พ.ย. 2526 ขณะที่ชาวกรุงเทพมหานครส่วนหนึ่ง กำลังทนทุกข์หนักกับสภาพน้ำท่วมขัง น้อยคนที่จะรู้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงพยายามหาหนทางบรรเทาทุกข์ให้พวกเขาอยู่อย่างเงียบๆ
      วันนั้นรถพระที่นั่งแวนแวคคอนเนียร์ แล่นออกจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ราวบ่ายสองโมงเศษ สู่ถนนศรีอยุธยาเลี้ยวขวาเข้าถนนเพชรบุรี มุ่งสู่ถนนบางนาตราด ไม่มีหมายกำหนดการ ไม่มีการปิดถนน แม้แต่ตำรวจท้องที่ก็ไม่ทราบล่วงหน้า
      รถยนต์พระที่นั่งชะลอเป็นระยะๆเพื่อทรงตรวจดูระดับน้ำ จนเมื่อถึงคอสะพานสร้างใหม่ที่คลองลาดกระบัง จึงเสด็จลงจากรถยนต์พระที่นั่งเพื่อทรงหารือกับเจ้าหน้าที่ที่ตามเสด็จ ทรงฉายภาพด้วยพระองค์เอง ทรงกางแผนที่ทอดพระเนตรจุดต่างๆจนถึงเวลาบ่ายคล้อย รถยนต์พระที่นั่งจึงแล่นกลับ เมื่อถึงสะพานคลองหนองบอน รถพระที่นั่งหยุดเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉายภาพบริเวณน้ำท่วมและทรงศึกษาแผนที่ร่องน้ำอีกครั้ง
      ปรากฎว่า ชาวบ้านทราบข่าวว่า "ในหลวงมาดูน้ำท่วม" ต่างก็พากันมาชมพระบารมีนับร้อยๆคนจนทำให้การจราจรบนสะพานเกิดการติดขัด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องทรงโบกพระหัตถ์ให้รถขบวนเสด็จ ผ่านไปจนเป็นที่เรียบร้อยด้วยพระองค์เอง


ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้
      นอกจากจะทรงหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความทุกข์ต่างๆให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในกรณีต่างๆแล้ว ยังทรงช่วยเหลือจัดการจราจรที่ติดขัดด้วยพระองค์เอง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งและนำความปลื้มปิติมาสู่ประชาชนชาวไทยทั้งปวง

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

4 ความคิดเห็น:

  1. ทุกภาพทุกเหตุการณ์ สร้างความปิติยินดีต่อปวงชนชาวไทย
    LONG LIVE THE KING

    ตอบลบ
  2. ที ทราบมาว่า ดอกบัว ทีพระองค์ท่าน รับมานั้น พระองค์ท่าน เอามาทำมวลสาร เพื่อสร้างพระ ท่านทรง ไม่มองข้าม ความสำคัญ

    ตอบลบ