วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

บทเพลงแหล่เทิดพระเกียรติ "ราชาแห่งราชัน"






      เมื่อปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงพสกรนิกรชาวไทยจากทั่วสารทิศได้ร่วมใจกันจัดกิจกรรมต่างๆเฉลิมพระเกียรติถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ "พ่อหลวง" ของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมเพื่อส่วนรวมและสังคม และอื่นๆอีกมากมาย หนึ่งในนั้นได้มีการแต่งบทเพลงเฉลิมพระเกียรติซึ่งเป็นเพลงลูกทุ่งแหล่ โดยได้นักประพันธ์เพลงอย่าง อ.ชลธี ธารทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) ร่วมกับ อ.วิเชียร คำเจริญ (ลพ บุรีรัตน์) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) เป็นผู้ประพันธ์คำร้องของบทเพลง และถ่ายทอดเนื้อหาของบทเพลงผ่านศิลปินชื่อดังมากมาย อาทิ ชินกร ไกรลาศ , ชาย เมืองสิงห์ , ขวัญจิต ศรีประจันต์ , ไวพจน์ เพชรสุพรรณ และท่านอื่นๆรวม 9 ท่าน ซึ่งเนื้อหาในบทเพลงนี้ได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจต่างๆและโครงการในพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้นำความสุขความเจริญมาสู่ประชาชนชาวไทยทั่วทุกภาคทั้งแผ่นดิน นับเป็นบทเพลงอันทรงคุณค่าอีกหนึ่งบทเพลง และเป็นบทเพลงลูกทุ่งแหล่ประวัติศาสตร์ที่ได้มีการประพันธ์ขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ติดตามชมได้ตามข้อมูลด้านล่าง


9 นักร้องลูกทุ่งร่วมแหล่ "ราชาแห่งราชัน" เทิดไท้ในหลวง


      ศิลปินลูกทุ่งรวมใจกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ 9 นักร้องร่วมแหล่เทิดพระเกียรติ "ราชาแห่งราชัน" ได้สองศิลปินแห่งชาติ ชลธี ธารทอง-วิเชียร คำเจริญ ร่วมกันประพันธ์เพลง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2553
      ชลธี ธารทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) ปี 2542 กล่าวถึงเพลงแหล่ เทิดพระเกียรติ ในหลวง ครั้งยิ่งใหญ่กับทีมข่าว "คมชัดลึก" อย่างภาคภูมิใจว่า "เพลงนี้จะเป็นเพลงแหล่เพลงแรกในประวัติศาสตร์บ้านเราที่ทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวง เป็นภาษาไทยที่ฟังง่าย ผมคิดว่าเพลงนี้น่าจะเข้าถึงประชาชนมากที่สุดเท่าที่มีการทำมา เป็นภาษาที่มีความหมายตรงๆ บอกถึงพระราชกรณียกิจที่พระองค์ท่านทรงดูแลประชาชนไทยมาตลอดเวลาจนถึงทุกวันนี้" ซึ่งนอกเหนือจากภาษาที่เข้าใจง่ายแล้ว การประพันธ์เพลงนี้ครูชลธียังบอกถึงขั้นตอนการทำงานที่ต้องประสานกับครูลพ บุรีรัตน์เพื่อให้เป็นเพลงที่ดีที่สุด

      "เพลงนี้เราแบ่งกันแต่งระหว่างผมกับครูลพ บุรีรัตน์ การแต่งเพลงแหล่จะใช้โครงสร้างกลอนและกาพย์ยานีมาใช้ ผมประสานงานกับครูลพตลอดเพลงเลยออกมามีภาษาที่ใกล้ตัวคนทั่วไป ผมบอกไว้เลยว่าถ้าลูกๆ อย่างเราชอบทำให้พ่อทุกข์ ถ้าบ้านเมืองสงบพ่อก็มีความสุข ฟังเพลงแล้วทุกคนจะได้คิด ถ้าฟังแล้วยังคิดกันไม่ออกทำกันไม่ได้ก็แย่แล้ว"

      ด้าน วิเชียร คำเจริญ (ลพ บุรีรัตน์) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) นักแต่งเพลงลูกทุ่ง ปี 2548 กล่าวเสริมว่า "เขามีรายละเอียดมาให้ แต่ผมเขียนไปหมดแล้ว เลยหยิบเรื่อง หญ้าแฝก โครงการแก้มลิง พระองค์ท่านเป็นปราชญ์ เหมือนฟ้าที่มาห่มดิน โครงการต่างๆ เพลงนี้เป็นกลอนยาวหน่อยมี 2 บท นักร้อง 9 คนมาร่วมกันร้องคนละท่อนสลับกัน นอกจากนี้ยังให้คนรักสามัคคีตอนนี้บันทึกเสียงเรียบร้อยแล้วผมให้ชื่อไป 2 ชื่อคือ ฟ้าห่มดิน กับ พรจากพ่อ หรือชื่ออาจมาจากสำนักพระราชวัง แต่งเพลงแบบนี้สนุกดี ใช้คำง่ายๆ แต่ต้องไม่ยากเกินไปเพราะเราพูดถึงพระราชกรณียกิจกับโครงการต่างๆ ของพระองค์ท่านให้คนเข้าใจได้ทันทีที่ฟัง"

      สำหรับเพลง "ราชาแห่งราชัน" ขับร้องโดยนักร้องลูกทุ่งคุณภาพ 9 คน ดังนี้ ชาย เมืองสิงห์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นักร้อง-นักแต่งเพลงลูกทุ่ง ปี 2538 ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ปี 2539 ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ปี 2540 ชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ปี 2541 และนักร้องศิลปินลูกทุ่งแห่งยุค สุนารี ราชสีมา ศิรินทรา นิยากร คัฑลียา มารศรี บุญโทน คนหนุ่ม ทศพล หิมพานต์ เรียบเรียงเสียงประสานโดย นฤพนธ์ พานทอง ห้องบันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียงจาตุรงค์ ควบคุมโดย ณรงค์ ศิลาลิขิต และในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้จะมีการถ่ายมิวสิกวิดีโอที่ศาลาเฉลิมกรุงซึ่งกำกับโดย บัณฑิต ทองดี




เพลง ราชาแห่งราชัน
ส่วนที่1 ขับร้อง : ชินกร ไกรลาศ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร
รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

ส่วนที่ 2-3 คำร้อง : วิเชียร คำเจริญ
ขับร้อง : ชาย เมืองสิงห์
ประเทศไทยเรามีโชค ซึ่งทั่วโลกเขาไม่มี
เรามีพระมหากษัตริย์ดี ทรงเป็นศรีเมืองอยู่เป็นนิจ
ห่วงใยประชาชน ทุกท่านทุกคนทุกชีวิต
เรื่องใดใหญ่เกินคิด ทรงชี้ทางทิศให้เดินสบาย

ขับร้อง : ขวัญจิต ศรีประจันต์
หญ้าแฝกร้อยราก ถักทอรัดคอดิน
น้ำซัดเซาะริน ดินไม่พังสิ้นเสียหาย

ขับร้อง : ไวพจน์ เพชรสุพรรณ
แก้มลิงยิ่งลึกล้ำ เก็บกักน้ำไว้มากมาย
ไว้กินไว้ใช้สบาย ชาวนาทั้งหลายมีใช้มีกิน

ขับร้อง : ทศพล หิมพานต์
พ่อไทยคือขวัญชาติ เปรื่องงานศาสตร์ปราชญ์งานศิลป์
พ่อเหมือนฟ้าโปรดมาห่มดิน มีอยู่มีกินเพราะโครงการพระองค์

ส่วนที่ 4 - 5 คำร้อง : ชลธี ธารทอง
ขับร้อง : สุนารี ราชสีมา

เด็ดดอกไม้ท้ายทุ่ง ชวนป้าลุงมาพร้อมหน้า นบน้อมจอมราชา ผู้เป็นฟ้าที่ห่มดิน
วันนี้หรือวันไหน หัวใจไทยทั่วฐานถิ่น เทอดทูนจอมบดินทร์ ผู้เป็นภูมิคุ้มกันไทย

ขับร้อง : ศิรินทรา นิยากร
แม่โพสพขวัญข้าว เจ้าพ่อหลวงคือขวัญหล้า วอนพระสยามเทวา คุ้มครององค์พระทรงชัย
พ่อเหนื่อยมาเหลือเกิน ร้อยเขาเขินพันพงไพร เกิดเหตุอาเพศใด ทรงห่วงใยทุกชีวี

ขับร้อง : คัฑลียา มารศรี
ราชาแห่งราชัน ที่ลือลั่นไปทั้งโลก คนไทยนี้มีโชคมีในสิ่งเขาไม่มี
มีความห่วงหาและอาทรทุกนาที มีความปรานีจากพระเจ้าอยู่หัว

ขับร้อง : บุญโทน คนหนุ่ม
ทุกข์ราษฎร์ ทุกข์แผ่นดิน ทุกข์ทั้งสิ้นคือทุกข์พ่อ ทรงเก็บไปทุกข์ต่อ จนทุกข์พ่อท่วมท้นตัว
อยากเห็นพ่อสุขใจ วอนคนไทยทุกครอบครัว ทำดีหนีความชั่ว บูชาพ่อของแผ่นดิน

คำร้อง : วิเชียร คำเจริญ (ขับร้องหมู่)
คำพ่อให้แรงใจ แก่ลูกไทยทั่วธรณินทร์ คำพรพ่อของแผ่นดิน ให้รู้จักรักสามัคคี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คม ชัด ลึก

1 ความคิดเห็น:

  1. เอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย ดีที่สุดเลย ไพเราะมากๆภูมิใจที่เป็นคนไทย

    ตอบลบ