วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

เรื่องเล่าของในหลวง (ตอนที่ 3)







      ผ่านไปแล้วสำหรับบทความ 2 ชิ้นที่ได้รวบรวมเรื่องราวต่างๆที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่เหมาะสมแก่ประชาชนชาวไทยควรจะปฏิบัติตาม ในบทความนี้ยังมีเรื่องราวดีๆเช่นเดิมนำมาฝากผู้อ่านทุกๆท่านนะครับ มาติดตามชมได้ในบทความนี้ที่มีชื่อว่า "เรื่องเล่าของในหลวง ตอนที่ 3"

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องที่ 5 ดอกบัวจากหัวใจ


            ที่นครพนม บนเส้นทางรับเสด็จตรงสามแยกชยางกูร - เรณูนคร บ่ายวันที่ 13 พ.ย. 2498 อาณัติ บุนนาค หัวหน้าส่วนช่างภาพประจำพระองค์ ได้บันทึกภาพในวินาทีสำคัญ ที่กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ภาพหนึ่งของประเทศ "ภาพที่พูดได้มากกว่าคำพูดหนึ่งล้านคำ"
      วันนั้นหลังจากทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร เสร็จสิ้นในช่วงเช้าแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งกลับไปประทับแรม ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ราษฎรที่รู้ข่าวก็พากันอุ้มลูก จูงหลานหอบกันมารับเสด็จที่ริมถนนอย่างเนืองแน่น
      ดังเช่นครอบครัวจันท์นิตย์ ที่ลูกหลานช่วยกันนำ แม่ตุ้ม จันทนิตย์ วัย 102 ปี ไปรอรับเสด็จ ณ จุดรับเสด็จห่างจากบ้าน 700 เมตร โดยลูกหลานได้จัดหาดอกบัวสายสีชมพู ให้แม่เฒ่าจำนวน 3 ดอก และพาออกไปรอที่แถวหน้าสุดเพื่อให้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทที่สุด
      เปลวแดดร้อนแรงตั้งแต่เช้าจนสาย เที่ยงจนบ่าย แผดเผาจนดอกบัวสายในมือเหี่ยวโรย แต่หัวใจรักภักดีของหญิงชรายังเบิกบาน เมื่อเสด็จฯ มาถึงตรงหน้า แม่เฒ่าได้ยกดอกบัวสายโรยราสามดอกนั้น ขึ้นจบเหนือศีรษะแสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง 

"พระเจ้าแผ่นดิน" ทรงโน้มพระองค์อย่างต่ำที่สุด จนพระพักตร์แนบชิดกับศีรษะของแม่เฒ่า ทรงแย้มพระสรวลอย่างเอ็นดู พระหัตถ์แตะมือกร้านคล้ำของเกษตรกรชราชาวอีสานอย่างอ่อนโยน

      เป็นคำบรรยายเหมือนไม่จำเป็น สำหรับภาพที่ไม่จำเป็นต้องบรรยาย ไม่มีใครรู้ว่าทรงกระซิบคำใดกับแม่เฒ่า แต่แน่นอนว่าแม่เฒ่าไม่มีวันลืม เช่นเดียวกับที่ ในหลวงไม่ทรงลืมราษฎรคนสำคัญที่ทรงพบริมถนนวันนั้น หลานและเหลนของแม่เฒ่าเล่าว่า

      "หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯแล้ว ทางสำนักพระราชวัง ได้ส่งภาพรับเสด็จของแม่เฒ่าตุ้ม พร้อมทั้งพระบรมรูปหล่อด้วยปูนพลาสเตอร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานผ่านมาทางอำเภอพระธาตุพนม ให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึก"

      พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ อาจมีส่วนชุบชูชีวิตให้แม่เฒ่ายืนยาวขึ้นอีก ด้วยความสุขต่อมาอีกถึงสามปีเต็มๆ
      แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ ราษฎรผู้โชคดีที่สุดคนหนึ่งในรัชกาลที่ 9 สิ้นอายุขัยอย่างสงบด้วยโรคชราเมื่ออายุได้ 105 ปี

เรื่องโดย
      ข้อมูลจาก "แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์" ภาคพิเศษโดย คุณหญิงศรีนาถ สุริยะ วารสารไทย
ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้
      เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นหนึ่งภาพประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯทรงมีพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นแก่ แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ เป็นความสุขและความอุ่นใจที่คนไทยธรรมดาคนหนึ่งได้รับจากพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ และเป็นความปลื้มปิติอย่างยิ่งสำหรับคนไทยทั่วทั้งประเทศที่ได้มีโอกาสรับรู้และพบเห็นเรื่องราวในครั้งนี้

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องที่ 6 ข้าวผัดไข่ดาว



      วันหนึ่งในหลวงเสด็จฯ เขาค้อเพื่อเปิดอนุสาวรีย์ พอเปิดอนุสาวรีย์เสร็จพระองค์ท่านก็ขอกลับไปที่พระตำหนักเพื่อจะทรงเปลี่ยนฉลองพระบาทเพราะเดี๋ยวจะไปดูงานในป่าในดง เราก็ไม่ได้ทานข้าวไม่มีใครทานข้าวตอนนั้นบ่ายสองโมงแล้ว ก่อนจะเปลี่ยนฉลองพระบาทสักยี่สิบนาทีน่าจะพุ้ยข้าวทัน ก็รีบวิ่งไปห้องอาหารที่เตรียมไว้ ปรากฏว่าพวกที่ไม่ได้ตามเสด็จเขาทานกันหมดแล้ว ในนั้นจึงเหลือข้าวผัดติดก้นกระบะ กับมีไข่ดาวทิ้งแห้งไว้ 3-4 ใบ เราก็ตักเห็นมีข้าวอยู่จานหนึ่งวางไว้ มีข้าวผัดเหมือนอย่างเราไข่ดาวโปะใบหนึ่ง มีน้ำปลาถ้วยหนึ่งวางอยู่เพื่อนผมก็จะไปหยิบมามหาดเล็กบอกว่า "ไม่ได้ๆ จานนี้ของ  พระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งให้มาตัก" ดูสิครับตักมาจากก้นกระทะเลย ผมนี่น้ำตาแทบไหลเลย ท่านเสวยเหมือนๆกันกับเรา......

เรื่องโดย
      ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้
      แม้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศไทย แต่ทรงเลือกปฏิบัติพระองค์เช่นเดียวกับชาวบ้านสามัญชนธรรมดา ทรงเสวยอาหารแบบเดียวกันกับที่ชาวบ้านรับประทานโดยไม่ถือพระองค์แม้แต่น้อย เป็นพระจริยวัตรอันงดงามน่าประทัปใจ สมควรแก่การยกย่องเทิดทูน และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งต่อประชาชนชาวไทย

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องที่ 7 น้ำท่วมครั้งนั้น

      วันที่ 7 พ.ย. 2526 ขณะที่ชาวกรุงเทพมหานครส่วนหนึ่ง กำลังทนทุกข์หนักกับสภาพน้ำท่วมขัง น้อยคนที่จะรู้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงพยายามหาหนทางบรรเทาทุกข์ให้พวกเขาอยู่อย่างเงียบๆ
      วันนั้นรถพระที่นั่งแวนแวคคอนเนียร์ แล่นออกจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ราวบ่ายสองโมงเศษ สู่ถนนศรีอยุธยาเลี้ยวขวาเข้าถนนเพชรบุรี มุ่งสู่ถนนบางนาตราด ไม่มีหมายกำหนดการ ไม่มีการปิดถนน แม้แต่ตำรวจท้องที่ก็ไม่ทราบล่วงหน้า
      รถยนต์พระที่นั่งชะลอเป็นระยะๆเพื่อทรงตรวจดูระดับน้ำ จนเมื่อถึงคอสะพานสร้างใหม่ที่คลองลาดกระบัง จึงเสด็จลงจากรถยนต์พระที่นั่งเพื่อทรงหารือกับเจ้าหน้าที่ที่ตามเสด็จ ทรงฉายภาพด้วยพระองค์เอง ทรงกางแผนที่ทอดพระเนตรจุดต่างๆจนถึงเวลาบ่ายคล้อย รถยนต์พระที่นั่งจึงแล่นกลับ เมื่อถึงสะพานคลองหนองบอน รถพระที่นั่งหยุดเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉายภาพบริเวณน้ำท่วมและทรงศึกษาแผนที่ร่องน้ำอีกครั้ง
      ปรากฎว่า ชาวบ้านทราบข่าวว่า "ในหลวงมาดูน้ำท่วม" ต่างก็พากันมาชมพระบารมีนับร้อยๆคนจนทำให้การจราจรบนสะพานเกิดการติดขัด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องทรงโบกพระหัตถ์ให้รถขบวนเสด็จ ผ่านไปจนเป็นที่เรียบร้อยด้วยพระองค์เอง


ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้
      นอกจากจะทรงหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความทุกข์ต่างๆให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในกรณีต่างๆแล้ว ยังทรงช่วยเหลือจัดการจราจรที่ติดขัดด้วยพระองค์เอง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งและนำความปลื้มปิติมาสู่ประชาชนชาวไทยทั้งปวง

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

เรื่องเล่าของในหลวง (ตอนที่ 2)








หลังจากที่ได้นำเสนอเรื่องราวอันน่าประทัปใจของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ผ่านบทความ "เรื่องเล่าของในหลวง ตอนที่ 1" ไปแล้วนั้น ในวันนี้จึงทำการรวบรวมเรื่องราวๆต่างของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ มาเรียบเรียงเป็นบทความชิ้นนี้ มาติดตามชมกันต่อได้ในชื่อว่า "เรื่องเล่าของในหลวง ตอนที่ 2"

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องที่ 3 เก็บร่ม

      การเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้ง แม้จะต้องเผชิญกับแดดร้อนหรือลมแรง ราษฎรก็ไม่เคยย้อท้อที่จะอดทนรอรับเสด็จให้ถึงที่สุด แม้ฝนจะตกหนักแค่ไหน ก็ไม่มีใครยอมกลับบ้าน
      ร้อยเอกศรีรัตน์ หริรักษ์ เล่าไว้ในบทความ "พระบารมีปกเกล้าฯ ที่อำเภอท่ายาง" ตีพิมพ์ในหนังสือ "72 พรรษาราชาธิราชเจ้านักรัฐศาสตร์" ว่า
   
      ครั้งหนึ่งที่โครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาถึง ปรากฎว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ราษฎรและข้าราชการที่มาเข้าแถวรอรับเสด็จ ต่างเปียกปอนกันหมด แต่ก็ยังตั้งแถวเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่อย่างนั้น
      เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ นายตำรวจราชองค์รักษ์ที่ตามเสด็จ ได้เข้าไปกางร่มถวาย ทรงทอดพระเนตรเห็นบรรดาข้าราชการและราษฎร ที่มายืนตั้งแถวรอรับเสด็จอยู่ต่างก็เปียกฝนโดยทั่วกัน

"จึงมีรับสั่งให้นายตำรวจราชองครักษ์เก็บร่ม แล้วทรงพระดำเนินเยี่ยมข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเสด็จ โดยทรงเปียกฝนเช่นเดียวกับข้าราชการ และราษฎรทั้งหลายที่ยืนรอรับเสด็จในขณะนั้น"

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้
      พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ นอกจากจะทรงแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ให้กับราษฎรของพระองค์ท่านแล้ว ยังทรงห่วงใยชาวบ้านที่มารอเฝ้ารับเสด็จอย่างไม่ย่อท้อแม้ต้องเผชิญกับสภาพอากาศไม่ดีก็ตาม พระองค์ท่านถึงกับทรงยอมเปียกฝนเช่นเดียวกับชาวบ้าน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งที่มีต่อประชาชนชาวไทยบนผืนแผ่นดินนี้

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องที่ 4 รถติดหล่ม กับ ถนนสายนั้น

      หากย้อนกลับไปค้นหาจุดเริ่มต้นของพระราชกรณียกิจ ในด้านการพัฒนาแล้ว ชื่อของ "ลุงรวย" และ "บ้านห้วยมงคล" คือสองชื่อที่ลืมไม่ได้
      เรื่องราวของ "ลุงรวย" เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2495 หรือ มากกว่าห้าสิบปีล่วงมาแล้ว ที่บ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กใน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บ้านห้วยมงคลนี้อยู่ทั้ง ใกล้และไกล ตลาดหัวหิน ใกล้เพราะระยะทางที่ห่างกันนั้นไม่กี่กิโลเมตร แต่ไกลเพราะไม่มีถนน หากชาวบ้านจะขนพืชผักไปขายที่ตลาดต้องใช้เวลาเป็นวันๆ
      ห่างไกลความเจริญถึงเพียงนี้ แต่วันหนึ่งกลับมีรถยนต์คันหนึ่งมาตกหล่ม อยู่ที่หน้าบ้านลุงรวย เมื่อเห็นทหารตำรวจกว่าสิบนายระดมกำลังกัน ช่วยรถคันนั้นขึ้นจากหล่ม ลุงรวยผู้รวยน้ำใจสมชื่อก็กุลีกุจอออกไปช่วย ทั้งงัด ทั้งดัน ทั้งฉุด จนที่สุดล้อรถก็หลุดจากหล่ม
      
      เมื่อรถขึ้นจากหล่มแล้ว ลุงรวยจึงได้รู้ว่ารถคันที่ตัวทั้งฉุดทั้งดึงนั้น เป็นรถยนต์พระที่นั่งและคนในรถนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชินีนาถ

      แม้จะตื่นเต้นตกใจที่ได้เฝ้าฯในหลวงอย่างไม่คาดฝัน แต่ลุงรวยก็ยังจำได้ว่าวันนั้น "ในหลวง" มีรับสั่งถามลุงว่า หมู่บ้านนี้มีปัญหาอะไรบ้าง
      ลุงได้กราบบังคมทูลว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดคือไม่มีถนน จึงนอกจากจะโชคดีได้รับพระราชทาน "เงินก้นถุง" จำนวน 36 บาท ซึ่งลุงนำไปเก็บใส่หีบบูชาไว้เป็นสิริมงคลจนถึงทุกวันนี้แล้ว อีกไม่นานหลังจากนั้น ลุงรวยก็ได้เห็นตำรวจพลร่มกลุ่มหนึ่งเข้ามา ช่วยกันไถดินที่บ้านห้วยมงคล และเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น ชาวบ้านก็ได้ถนนพระราชทาน "ถนนห้วยมงคล" ที่ทำให้ชาวไร้ห้วยมงคลสามารถขนพืชผักออกมาขายที่ตลาดหัวหินได้ภายในเวลาเพียง 20 นาที

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้
      ไม่ว่าประชาชนที่ได้รับความลำบากยากเข็ญ จะอยู่ห่างไกลสักเพียงใด พระองค์ท่านก็จะเสด็จไปเยี่ยมเยียนอย่างทั่วถึงเกือบทั้งสิ้น ด้วยน้ำพระทัยของพระองค์ท่าน จึงทำให้ราษฎรทั่วทุกถิ่นฐานบนแผ่นดินนี้ได้รับความสุขความสบายยิ่งขึ้น

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

เรื่องเล่าของในหลวง (ตอนที่ 1)






      บทความนี้ได้นำเรื่องราวดีๆเกี่ยวกับพระจริยวัตรอันงดงาม และพระราชอัธยาศัยอันน่าประทัปใจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ได้รับการบอกเล่าจากข้าราชบริพาร ข้าราชการระดับสูง รวมถึงผู้ติดตามเสด็จ ซึ่งประชาชนโดยทั่วไปอาจะไม่ทราบถึงเรื่องราวต่างๆเหล่านี้หากไม่ได้ศึกษาหรือค้นหาข้อมูลจากที่ต่างๆ ครั้งนี้จึงได้นำมาให้ทุกท่านได้ติดตามชมกัน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติของตนเอง ตามที่พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่เหมาะสมแก่ประชาชนของพระองค์ท่าน

เรื่องที่ 1 ในหลวงกับสัญญาณไฟแดง


วันหนึ่งมีคนสงสัยว่า รถนายกทำไมต้องติดไฟแดง....
      เหตุนี้เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน บนถนนแห่งหนึ่งในกทม มีรถยี่ห้อโตโยต้าสีดำคันหนึ่ง ได้ขับไปบนถนนเส้นนั้นโดยในรถคันดังกล่าว มีเพียงชายผู้หนึ่งที่กำลังขับรถอยู่เพียงคนเดียวและในระหว่างทางที่ขับไปนั้น ชายดังกล่าวได้จอดรถแวะข้างทางเพื่อซื้อกาแฟ 1 ถุง และได้ออกรถไปจนกระทั่งขับมาถึงสี่แยกไฟแดงแห่งหนึ่ง 
      ชายดังกล่าวก็ได้จอดติดไฟแดงอยู่ จนมีรถตำรวจคันหนึ่งซึ่งขับนำรถเบนซ์มาได้บีบแตรไล่รถที่ชายผู้นั้นจอดติดไฟแดงอยู่นั้นให้ถอยไป และรถตำรวจยังได้พูดผ่านไซเรนว่า 

"เป็นรถนำขบวนรัฐมนตรีให้รถของชายดังกล่าวหลบไป"

      แต่รถของชายผู้นั้นก็ไม่หลบให้ จนกระทั่งตำรวจได้ลงจากรถมาที่รถของชายดังกล่าวและเรียกให้ชายผู้นั้นลงจากรถ พอชายผู้นั้นได้ลงมาจากรถ ตำรวจได้เห็นชายคนนั้นถึงกลับเป็นลมล้มทั้งยืน สร้างความตกใจให้แก่ตำรวจอีกคนที่นั่งอยู่ในรถ จนต้องวิ่งลงมาดูพร้อมกับรัฐมนตรี พอตำรวจและรัฐมนตรีมาถึง ทั้งคู่ได้เห็นชายดังกล่าว ทั้งตำรวจและรัฐมนตรีได้นั่งลงไปกับพื้นทันที เสมือนกับว่าขาทั้ง 2 ข้างได้อ่อนแรงลงไปทันใด และได้เงยหน้ามองดูชายซึ่งยืนอยู่ข้างหน้าตนด้วยอาการตัวสั่น 

ชายคนนั้นที่ทั้งคู่ได้เห็นเป็นชายที่มีรูปอยู่บนธนบัตร ซึ่งก็คือ ในหลวงองค์ปัจจุบัน

      ในหลวงได้ทรงตรัสถามรัฐมนตรีและตำรวจติดตามว่า "พวกท่านจะรีบไปไหนหรือถึงกลับจะต้องฝ่าไฟแดง ข้าพเจ้ายังรอติดไฟแดงได้เลย"

      รัฐมนตรีไม่ตอบได้แต่นั่ง ตัวสั่นและกราบลงบนพระบาทและในหลวงก็ได้ทรงขึ้นรถ ตำรวจที่นำขบวนรัฐมนตรีมานั้นก็ได้ทูลว่า "ให้ข้าพระพุทธเจ้าขับรถนำรถพระที่นั่งของพระองค์ไปมั๊ยพุทธเจ้าข้า" 

      ในหลวงทรงตรัสว่า "เราไม่ต้องให้ท่านมานำขบวนรถเราหรอก เราขับไปเองคนเดียวได้ ท่านไปนำรถของท่านรัฐมนตรีเถอะ" 

และในหลวงก็ได้ทรงขับรถออกไปจากสี่แยกนั้น โดยไม่ได้มีรถตำรวจนำไปแต่อย่างใดเลย

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้
      แม้ทรงเป็นถึงพระมหากษัตริย์ แต่ก็ทรงเคารพระเบียบวินัย และกฎจราจรได้อย่างเคร่งครัด เป็นแบบอย่างที่ถูกต้องให้ประชาชนได้ปฎิบัติตาม เพื่อความมีวินัยของจราจรบนท้องถนน

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องที่ 2 พับเพียบ
      ในครั้งแรก ผมทำงานตามพระราชดำริ โดยไม่ทราบว่าเป็นงานของพระองค์ จนกระทั่งวันหนึ่ง มีคนบอกว่าให้เข้าไปในวังด้วยกันและให้นำระบบสายอากาศชนิดใหม่ขึ้นไปติดตั้ง ก็ไม่ได้คิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ มา แต่ว่าแปลกใจทำไมอยู่ดีๆเจ้าหน้าที่ที่กำลังติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ อย่บนดาดฟ้าของพระตำหนักถึงปีนลงมา ทั้ง ๆ ที่งานยังไม่เสร็จ แท้ที่จริงพระองค์ท่านเสด็จฯ มายืนอยู่ข้างหลัง
      ผมเหลียวหลังไปมองนิดหนึ่ง ครั้นพอเห็นพระองค์ท่านก็ตกใจ เป็นอาการวูบ ขึ้นมาทันที นึกอยู่ในใจว่าใช่แล้ว ใช่แน่ ๆ เพราะคิดว่าเหมือนในรูป ผมก็รีบทำความเคารพ แล้วก็ทำอะไรไม่ถูกสิ่งที่ผมจำได้คือเราต้องอยู่ต่ำกว่า จึงรีบคุกเข่าให้ต่ำลงมาเป็นเหมือนชันเข่าเพราะว่าตอนนั้นพระองค์ท่าน ประทับยืนอยู่ ถ้านั่งพับเพียบเลยก็จะต่ำเกินไปเพราะว่าผมต้องพูดอธิบายด้วย

ปรากฎว่าพระองค์ท่านก็คุกเข่าลงไปด้วย ผมก็เลยนั่งพับเพียบให้ต่ำลงไปอีก พระองค์ท่านก็ประทับพับเพียบเหมือนกันเลยกลายเป็นว่าวันนั้น นั่งพับเพียบสนทนากัน ๒-๓ ชั่วโมง บนดาดฟ้าพระตำหนักในเวลาช่วงบ่ายที่ร้อนเปรี้ยง....

เรื่องโดย 
      รองศาสตราจารย์ ดร.สุธี อักษรกิตติ์ ผู้สนองพระราชดำริ ในโครงการระบบสื่อสารสายอากาศ และอิเส็กทรอนิกส์
ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้
      แม้ทรงเป็นถึงพระมหากษัตริย์ แต่ก็ทรงมิได้ถือพระองค์แต่ประการ ทรงให้ความสำคัญแก่ประชาชนของพระองค์ท่านตลอดเวลา อย่างเช่น กรณีมีพระบรมราชโองการให้นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้า ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นั่งเก้าอี้เสมอพระองค์ท่านได้เพื่อกราบทูลข้อมูลต่างๆให้ทรงทราบ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งแก่ประชาชนชาวไทย

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

บทเพลงแหล่เทิดพระเกียรติ "ราชาแห่งราชัน"






      เมื่อปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงพสกรนิกรชาวไทยจากทั่วสารทิศได้ร่วมใจกันจัดกิจกรรมต่างๆเฉลิมพระเกียรติถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ "พ่อหลวง" ของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมเพื่อส่วนรวมและสังคม และอื่นๆอีกมากมาย หนึ่งในนั้นได้มีการแต่งบทเพลงเฉลิมพระเกียรติซึ่งเป็นเพลงลูกทุ่งแหล่ โดยได้นักประพันธ์เพลงอย่าง อ.ชลธี ธารทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) ร่วมกับ อ.วิเชียร คำเจริญ (ลพ บุรีรัตน์) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) เป็นผู้ประพันธ์คำร้องของบทเพลง และถ่ายทอดเนื้อหาของบทเพลงผ่านศิลปินชื่อดังมากมาย อาทิ ชินกร ไกรลาศ , ชาย เมืองสิงห์ , ขวัญจิต ศรีประจันต์ , ไวพจน์ เพชรสุพรรณ และท่านอื่นๆรวม 9 ท่าน ซึ่งเนื้อหาในบทเพลงนี้ได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจต่างๆและโครงการในพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้นำความสุขความเจริญมาสู่ประชาชนชาวไทยทั่วทุกภาคทั้งแผ่นดิน นับเป็นบทเพลงอันทรงคุณค่าอีกหนึ่งบทเพลง และเป็นบทเพลงลูกทุ่งแหล่ประวัติศาสตร์ที่ได้มีการประพันธ์ขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ติดตามชมได้ตามข้อมูลด้านล่าง


9 นักร้องลูกทุ่งร่วมแหล่ "ราชาแห่งราชัน" เทิดไท้ในหลวง


      ศิลปินลูกทุ่งรวมใจกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ 9 นักร้องร่วมแหล่เทิดพระเกียรติ "ราชาแห่งราชัน" ได้สองศิลปินแห่งชาติ ชลธี ธารทอง-วิเชียร คำเจริญ ร่วมกันประพันธ์เพลง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2553
      ชลธี ธารทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) ปี 2542 กล่าวถึงเพลงแหล่ เทิดพระเกียรติ ในหลวง ครั้งยิ่งใหญ่กับทีมข่าว "คมชัดลึก" อย่างภาคภูมิใจว่า "เพลงนี้จะเป็นเพลงแหล่เพลงแรกในประวัติศาสตร์บ้านเราที่ทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวง เป็นภาษาไทยที่ฟังง่าย ผมคิดว่าเพลงนี้น่าจะเข้าถึงประชาชนมากที่สุดเท่าที่มีการทำมา เป็นภาษาที่มีความหมายตรงๆ บอกถึงพระราชกรณียกิจที่พระองค์ท่านทรงดูแลประชาชนไทยมาตลอดเวลาจนถึงทุกวันนี้" ซึ่งนอกเหนือจากภาษาที่เข้าใจง่ายแล้ว การประพันธ์เพลงนี้ครูชลธียังบอกถึงขั้นตอนการทำงานที่ต้องประสานกับครูลพ บุรีรัตน์เพื่อให้เป็นเพลงที่ดีที่สุด

      "เพลงนี้เราแบ่งกันแต่งระหว่างผมกับครูลพ บุรีรัตน์ การแต่งเพลงแหล่จะใช้โครงสร้างกลอนและกาพย์ยานีมาใช้ ผมประสานงานกับครูลพตลอดเพลงเลยออกมามีภาษาที่ใกล้ตัวคนทั่วไป ผมบอกไว้เลยว่าถ้าลูกๆ อย่างเราชอบทำให้พ่อทุกข์ ถ้าบ้านเมืองสงบพ่อก็มีความสุข ฟังเพลงแล้วทุกคนจะได้คิด ถ้าฟังแล้วยังคิดกันไม่ออกทำกันไม่ได้ก็แย่แล้ว"

      ด้าน วิเชียร คำเจริญ (ลพ บุรีรัตน์) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) นักแต่งเพลงลูกทุ่ง ปี 2548 กล่าวเสริมว่า "เขามีรายละเอียดมาให้ แต่ผมเขียนไปหมดแล้ว เลยหยิบเรื่อง หญ้าแฝก โครงการแก้มลิง พระองค์ท่านเป็นปราชญ์ เหมือนฟ้าที่มาห่มดิน โครงการต่างๆ เพลงนี้เป็นกลอนยาวหน่อยมี 2 บท นักร้อง 9 คนมาร่วมกันร้องคนละท่อนสลับกัน นอกจากนี้ยังให้คนรักสามัคคีตอนนี้บันทึกเสียงเรียบร้อยแล้วผมให้ชื่อไป 2 ชื่อคือ ฟ้าห่มดิน กับ พรจากพ่อ หรือชื่ออาจมาจากสำนักพระราชวัง แต่งเพลงแบบนี้สนุกดี ใช้คำง่ายๆ แต่ต้องไม่ยากเกินไปเพราะเราพูดถึงพระราชกรณียกิจกับโครงการต่างๆ ของพระองค์ท่านให้คนเข้าใจได้ทันทีที่ฟัง"

      สำหรับเพลง "ราชาแห่งราชัน" ขับร้องโดยนักร้องลูกทุ่งคุณภาพ 9 คน ดังนี้ ชาย เมืองสิงห์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นักร้อง-นักแต่งเพลงลูกทุ่ง ปี 2538 ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ปี 2539 ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ปี 2540 ชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ปี 2541 และนักร้องศิลปินลูกทุ่งแห่งยุค สุนารี ราชสีมา ศิรินทรา นิยากร คัฑลียา มารศรี บุญโทน คนหนุ่ม ทศพล หิมพานต์ เรียบเรียงเสียงประสานโดย นฤพนธ์ พานทอง ห้องบันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียงจาตุรงค์ ควบคุมโดย ณรงค์ ศิลาลิขิต และในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้จะมีการถ่ายมิวสิกวิดีโอที่ศาลาเฉลิมกรุงซึ่งกำกับโดย บัณฑิต ทองดี




เพลง ราชาแห่งราชัน
ส่วนที่1 ขับร้อง : ชินกร ไกรลาศ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร
รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

ส่วนที่ 2-3 คำร้อง : วิเชียร คำเจริญ
ขับร้อง : ชาย เมืองสิงห์
ประเทศไทยเรามีโชค ซึ่งทั่วโลกเขาไม่มี
เรามีพระมหากษัตริย์ดี ทรงเป็นศรีเมืองอยู่เป็นนิจ
ห่วงใยประชาชน ทุกท่านทุกคนทุกชีวิต
เรื่องใดใหญ่เกินคิด ทรงชี้ทางทิศให้เดินสบาย

ขับร้อง : ขวัญจิต ศรีประจันต์
หญ้าแฝกร้อยราก ถักทอรัดคอดิน
น้ำซัดเซาะริน ดินไม่พังสิ้นเสียหาย

ขับร้อง : ไวพจน์ เพชรสุพรรณ
แก้มลิงยิ่งลึกล้ำ เก็บกักน้ำไว้มากมาย
ไว้กินไว้ใช้สบาย ชาวนาทั้งหลายมีใช้มีกิน

ขับร้อง : ทศพล หิมพานต์
พ่อไทยคือขวัญชาติ เปรื่องงานศาสตร์ปราชญ์งานศิลป์
พ่อเหมือนฟ้าโปรดมาห่มดิน มีอยู่มีกินเพราะโครงการพระองค์

ส่วนที่ 4 - 5 คำร้อง : ชลธี ธารทอง
ขับร้อง : สุนารี ราชสีมา

เด็ดดอกไม้ท้ายทุ่ง ชวนป้าลุงมาพร้อมหน้า นบน้อมจอมราชา ผู้เป็นฟ้าที่ห่มดิน
วันนี้หรือวันไหน หัวใจไทยทั่วฐานถิ่น เทอดทูนจอมบดินทร์ ผู้เป็นภูมิคุ้มกันไทย

ขับร้อง : ศิรินทรา นิยากร
แม่โพสพขวัญข้าว เจ้าพ่อหลวงคือขวัญหล้า วอนพระสยามเทวา คุ้มครององค์พระทรงชัย
พ่อเหนื่อยมาเหลือเกิน ร้อยเขาเขินพันพงไพร เกิดเหตุอาเพศใด ทรงห่วงใยทุกชีวี

ขับร้อง : คัฑลียา มารศรี
ราชาแห่งราชัน ที่ลือลั่นไปทั้งโลก คนไทยนี้มีโชคมีในสิ่งเขาไม่มี
มีความห่วงหาและอาทรทุกนาที มีความปรานีจากพระเจ้าอยู่หัว

ขับร้อง : บุญโทน คนหนุ่ม
ทุกข์ราษฎร์ ทุกข์แผ่นดิน ทุกข์ทั้งสิ้นคือทุกข์พ่อ ทรงเก็บไปทุกข์ต่อ จนทุกข์พ่อท่วมท้นตัว
อยากเห็นพ่อสุขใจ วอนคนไทยทุกครอบครัว ทำดีหนีความชั่ว บูชาพ่อของแผ่นดิน

คำร้อง : วิเชียร คำเจริญ (ขับร้องหมู่)
คำพ่อให้แรงใจ แก่ลูกไทยทั่วธรณินทร์ คำพรพ่อของแผ่นดิน ให้รู้จักรักสามัคคี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คม ชัด ลึก

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ยาสีพระทนต์ของในหลวง

บทความนี้มีเรื่องราวดีๆนำมาฝากให้อ่านกันนะครับ เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนควรปฏิบัติ และดำเนินรอยตามแบบอย่างที่น่ายกย่องและชื่นชมเช่นนี้ เรื่องราวที่เป็นข้อคิดที่ดีเกี่ยวกับ "การประหยัด" ซึ่ง พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ท่านทรงปฏิบัติมาโดยตลอด และเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆคนได้หันมาทวบทวนเรื่องการใช้จ่ายและการดำรงชีวิตของตนเอง ในที่นี้ขอนำเสนอเรื่อง "ยาสีพระทนต์ของในหลวง"

     
      ผมมีภาพๆ หนึ่งเอามาให้ดูกัน เป็นภาพหลอดยาสีฟันที่ถูกใช้แล้วครับ เห็นทีแรกไกลๆ ก็ไม่รู้สึกอะไรมากหรอกครับ เป็นภาพที่ติดอยู่บนบอร์ดที่โรงเรียนของลูก ระหว่างที่ยืนรอลูกๆ ลงมาจากห้องเรียน จึงได้อ่านข้อความที่ประกอบภาพนี้ อย่างละเอียด
      ภาพหลอดยาสีฟันที่เห็นนี้ต้องเรียกว่าเป็นหลอดยาสีพระทนต์ประวัติศาสตร์ เพราะนี่คือ หลอดยาสีพระทนต์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เห็นแล้วรู้สึกเหมือนผมไหมครับ ความฉ่ำเย็นจากที่ไหนก็ไม่รู้อาบลงมากลางกระหม่อมเลย ภาพนี้ถูกตีพิมพ์เป็นโปสเตอร์โดยคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ฯ ครูที่โรงเรียนของลูกผมไปพบเข้าเลยนํามาถ่ายสําเนาติดบอร์ดให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจคําว่า "ประหยัด" 
      ศาสตราจารย์พิเศษทันตแพทย์หญิงท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจําพระองค์ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนเล่าให้ฟังว่า "ครั้งหนึ่งทันตแพทย์ประจําพระองค์กราบถวายบังคมทูลเรื่องศิษย์ทันตแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางคนมีค่านิยมในการใช้ของต่างประเทศและมีราคาแพง รายที่ไม่มีทรัพย์พอซื้อหาก็ยังขวนขวาย เช่ามาใช้เป็นการชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งเท่าที่ทราบมา มีความแตกต่างจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯที่ทรงนิยมใช้กระเป๋าที่ผลิตภายในประเทศเช่นสามัญชนทั่วไป ทรงใช้ดินสอสั้นจนต้องต่อด้าม แม้ยาสีพระทนต์ของพระองค์ท่านก็ทรงใช้ด้ามแปรงพระทนต์รีดหลอดยาจนแบนจนแน่ใจว่าไม่มียาสีพระทนต์หลงเหลืออยู่ในหลอดจริงๆ" เมื่อกราบบังคมทูลเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า ของพระองค์ท่านก็เหมือนกัน และยังทรงรับสั่งต่อไปด้วยอีกว่า "เมื่อไม่นานมานี้เองมหาดเล็กห้องสรง เห็นว่ายาสีพระทนต์ของพระองค์คงใช้หมดแล้ว จึงได้นําหลอดใหม่มาเปลี่ยนให้แทน เมื่อพระองค์ได้ทรงทราบก็ได้ขอให้เขานํายาสีพระทนต์หลอดเก่ามาคืน และพระองค์ท่านยังทรงสามารถใช้ต่อไปได้อีกถึง 5 วัน" จะเห็นได้ว่าในส่วนของพระองค์ท่านเองนั้น ทรงประหยัดอย่างยิ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงพระราชทานเพื่อราษฎรผู้ยากไร้อยู่เป็นนิจ พระจริยาวัตรของพระองค์ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดถึงพระวิริยะอุตสาหะ ตลอดจนความประหยัดในการใช้ของอย่างคุ้มค่า
      หลังจากนั้นทันตแพทย์ประจําพระองค์ได้กราบพระบาททูลขอพระราชทานหลอดยาสีพระทนต์หลอดนั้นเพื่อนําไปให้ศิษย์ได้เห็นและรับใส่เกล้าเป็นตัวอย่างเพื่อประพฤติปฏิบัติในโอกาสต่อๆไป ประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานส่งหลอดยาสีพระทนต์เปล่าหลอดนั้นมาให้ถึงบ้าน ทันตแพทย์ประจําพระองค์รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้ายิ่ง เมื่อได้พิจารณาถึงลักษณะของหลอดยาสีพระทนต์เปล่าหลอดนั้นแล้ว ทําให้เกิดความสงสัยว่า เหตุใดหลอดยาสีพระทนต์หลอดนี้จึงแบนราบเรียบโดยตลอดคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปเกือบถึงเกลียวคอหลอด เมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอีกครั้งในเวลาต่อมา จึงได้รับคําอธิบายจากพระองค์ว่า หลอดยาสีพระทนต์ที่เห็นแบนเรียบนั้น เป็นผลจากการใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีดและกดจนเป็นรอยบุ๋มที่เห็นนั่นเอง และเพื่อที่จะขอนําไปแสดงให้ศิษย์ทันตแพทย์ได้เห็นเป็นอุทาหรณ์ จึงได้ขอพระราชานุญาตซึ่งพระองค์ท่านก็ได้ทรงพระเมตตาด้วยความเต็มพระทัย 
      "ผมมีโอกาสได้ยืนมองดูรูปหลอดยาสีพระทนต์หลอดนี้อยู่เนืองๆ เวลาไปรอรับลูกที่โรงเรียน และเมื่อยิ่งดูก็ยิ่งได้รับรู้ถึงปรัชญาที่พระองค์พระราชทานผ่านมาทางหลอดยาฯนี้แล้ว ผมก็พบว่าแก่นแท้ของการประหยัดมันอยู่ตรงนี้นี่เอง ไม่ใช่ไม่ยอมใช้เลย แต่ต้องรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ใช้แบบเหลือทิ้งเหลือขว้าง และทําให้ผมคิดไปถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติบนโลกใบนี้ หลอดยาสีพระทนต์ของในหลวง หลอดนี้สอนผมให้เข้าใจว่า ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์เรายังคงต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่อ ไม่ใช่ไม่ใช้เลย แต่จะใช้อย่างไรมากกว่า ตัวอย่างง่ายๆเรื่องการใช้น้ำ เราไม่ควรประหยัดน้ำจนต้นไม้ที่ปลูกอยู่ตายเพราะขาดน้ำ แต่เราควรระวังการเปิดน้ำทิ้งไว้ เราควรระวังท่อน้ำรั่ว หยด ซึม เราควรระวังเรื่องสิ้นเปลืองเหล่านี้ต่างหาก แล้วผมก็คิดเลยไปถึงเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องรวมทั้งเรื่องเขื่อนว่าทําไมบางครั้งโลกเราถึงต้องยอมเสียพื้นที่ป่าบางพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนบ้าง"

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

การแก้ปัญหาจราจรตามแนวทางในพระราชดำริ



     ทุกวันนี้ ประเทศไทยเต็มไปด้วยการจราจรหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งแต่ละแบบต่างก็มีการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของยานพาหนะและเส้นทางให้ดียิ่งขึ้นแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น การสร้างและปรับปรุงสภาพถนนเส้นทางต่างๆเพื่อรองรับต่อปริมาณของรถยนต์ที่แล่นผ่าน การผลิตยานยนต์รุ่นใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทาง การปรับปรุงคุณภาพของการเดินทางด้วยรถไฟเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร รวมถึงการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ภายใต้ชื่อ "ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ" เพื่อรองรับปริมาณของผู้คนที่มีเดินทางเพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีสำหรับการเดินทางในปัจจุบัน

  

     แต่ในขณะที่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นนั้นก็นำมาซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาเช่นเดียวกัน หากมองในส่วนของกรุงเทพมหานครจะพบว่า การจราจรในปัจจุบันจะเน้นไปทางการขนส่งทางบก บนท้องถนนจะเต็มไปด้วยปริมาณของรถยนต์จำนวนมากที่ต่างเคลื่อนไปมาตามเส้นทางต่างๆ ยิ่งทุกนี้มีการผลิตรถยนต์ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้การจราจรทางถนนเกิดความติดขัดมากขึ้น หน่วยงานที่รับผิดชอบต่างก็ร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาทุกวิถีทาง เช่น การสร้างหรือตัดถนนเส้นทางใหม่เพิ่มอีกหลายเส้นทางเพื่อลดปัญหาการจราจรดังกล่าว หรือการสร้างการขนส่งมวลชนระบบรางยกระดับหรือที่รู้จักกันในชื่อรถไฟฟ้า แต่ก็ยังไม่สามารถบรรเทาปัญหาเหล่านี้ลงได้มากเท่าที่ควร
   ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการจราจรบนถนนบรมราชชนนี ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปประมาณ 20 ปีที่แล้ว จะพบว่า การจราจรบนเส้นทางนี้มีปัญหาอย่างมาก ปริมาณรถยนต์ที่แล่นผ่านบนถนนเส้นนี้ในแต่ละวันมีจำนวนมาก ยิ่งในเวลาช่วงเช้าซึ่งเป็นเวลาในการเดินทางไปทำงาน และช่วงเย็นซึ่งเป็นเวลาในการเดินทางกลับบ้าน จะยิ่งมีปริมาณรถยนต์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการจราจรบนเส้นทางนี้อย่างมาก
     แต่ด้วยแนวทางในพระราชดำริของพระองค์ท่านที่ทรงหาวิธีในการแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนเส้นนี้ ทรงให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจราจร ร่วมมือกันก่อสร้างถนนและสะพานเชื่อมต่อโครงการย่อยหลายๆโครงการเข้าด้วยกัน จากด้านทิศเหนือไปทิศใต้ และ ทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก เป็นแนวจตุรทิศ และดำเนินการสร้างทางยกระดับลอยฟ้าที่เรียกว่า "โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี" ทำให้ในปัจจุบันถนนสายนี้สามารถบรรเทาปัญหาการจราจรลงได้อย่างมาก ทำให้เกิดความคล่องตัวและสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง รวมทั้งยังช่วยลดเวลาการเดินทางให้สั้นลงได้อีก

จะขอกล่าวถึงลักษณะของโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนีอย่างคร่าวๆ

โครงการก่อสร้างทางยกระดับคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี 


     มีระยะทาง 4.50 กิโลเมตร เป็นสะพานคอนกรีตขนาด 4 ช่องทางจราจร สลับทิศทางวิ่งเช้าเย็น กว้างช่องทางละ 3.50 เมตร ไหล่ทางข้างละ 1.25 เมตร ความสูงประมาณ 10-20 เมตร งบประมาณ 1,250 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการวางศิลาฤกษ์คานสะพาน บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเมอรี่คิงส์ปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2539 เวลา 16.49 นาฬิกา

 


     ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล รวมถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน "ในหลวงภูมิพล" ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย ทรงดูแลทุกข์สุขและความเป็นอยู่ของคนไทยเป็นเวลานานกว่า 60 ปี ทรงพระราชทานแนวทางการแก้ปัญหาและการพัฒนาสิ่งต่างๆเพื่อประชาชนชาวไทยของพระองค์ท่านได้เกิดความสุขทั้งทางกายและทางใจ ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนจะแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีและเทิดทูนต่อพระองค์ท่าน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นดั่ง "พ่อแห่งแผ่นดิน" 

ติดตามรายละอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรตามแนวทางในพระราชดำริได้ตามที่อยู่ด้านล่าง